เบื่อลูก ไม่มีความสุข ไม่อยากเลี้ยงลูก ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
ถึงแม้ว่าการให้กำเนิดลูกหรือการคลอดลูกจะเป็นสิ่งที่คุณแม่ทุกคนจะต้องทำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการให้กำเนิดลูกจะทำให้ผู้หญิงคนนึงกลายเป็นแม่คนได้ในชั่วข้ามคืน และจากข้อมูลทางสภิติพบว่า ในประเทศไทยหลายพื้นที่ พบความชุกของการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดถึงร้อยละ 10-15 (ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด: การป้องกันและการดูแล โดย คชารัตน์ ปรีชล) ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้คนควรให้ความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้กันให้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกไม่มีความสุข ไม่อยากเลี้ยงลูก ความเบื่อ ความหดหู่ หรืออารมณ์ฉุนเฉียวที่เกิดขึ้นกับคุณแม่บางคนหลังจากการคลอดนั้น อาจะไม่ใช่ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเสมอไป
หลังการให้กำเนิดมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นกับคุณแม่ ทั้งเรื่อง ทางชีวภาพ เช่น สภาพร่างกาย ปริมาณฮอร์โมนชนิดต่างๆ รวมถึงภาระหน้าที่และ สภาวะทางสังคม ซึ่ง สภาวะการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ มีชื่อเรียกที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันเท่าใดนักว่า “MATRESCENCE” ซึ่งถูกนิยามไว้โดยนักมานุษยวิทยาชื่อ Dana Raphael ในปี 1973

MATRESCENCE หรือ กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นแม่คนของผู้หญิง อาจเริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น จาก TED Talk ของ ด็อกเตอร์ Alexandra Sacks จิตแพทย์ ชาวอเมริกา เธอกล่าวว่า MATRESCENCE อาจทำให้คุณแม่เกิดความรู้สึก ไม่อยากเลี้ยงลูก ไม่มีความสุข หรือ เป็นทุกข์อยู่ในใจ มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงขึ้นๆลง ไม่รู้ว่าตัวเองควรทำตัวอย่างไร ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกๆคนหลังจากคลอดลูก
MATRESCENCE ไม่ใช่โรคซึมเศร้าหลังคลอด และไม่ใช่อาการป่วย แต่เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมเหมือนกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่วัยรุ่น เพื่อให้คนไข้ของเธอเข้าใจได้ง่ายขึ้น เธออธิบายถึง MATRESCENCE ด้วยแนวคิด ผลักและดึง (push and pull) ดังนี้
การดึง เป็นเรื่องของวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ลูกอ่อนหรือทารกของมนุษย์นั้นอ่อนแอมากถึงมากที่สุดเมื่อเทียบกับลูกอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ ทารกของมนุษย์นั้นไม่สามารถดูแลตัวเองได้โดยสิ้นเชิง วิวัฒนาการจึงช่วยแก้ปัญหานี้ด้วยฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซินออกมาในขณะคลอดลูก และยังหลั่งออกมาจากการสัมผัสทางผิวหนังได้ด้วย ดังนั้นระดับของฮอร์โมนออกซิโทซินจึงเพิ่มขึ้นได้ถึงแม้ว่าจะไม่ได้คลอดโดยวิธีธรรมชาติ ซึ่งฮอร์โมนออกซิโทซินนี้จะสั่งให้สมองของคนเป็นแม่ให้ความสำคัญและดึงความสนใจทั้งหมดของแม่มาที่ลูก ทำให้แม่มีความรู้สึกว่าลูกเป็นจุดศูนย์กลางของโลกของเธอเลยทีเดียว
แต่ในขณะเดียวกัน การผลักก็เกิดขึ้น คนเป็นแม่ยังคงมีชีวิตอีกส่วนหนึ่งที่เคยเป็นตัวตนของตนเอง เช่น หน้าที่การงาน สายสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ งานอดิเรก รวมไปถึงความต้องการทางร่างกายต่าง เช่น การกิน การนอน การออกำลังกาย การมีเพศสัมพันธ์ หรือแม่แต่การใช้ห้องน้ำตามลำพัง สิ่งเหล่านี้เป็นการขัดแย้งและต่อสู้กันทางอารมณ์ ซึ่งก่อให้เกิดความเครียด ความอึดอัด และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีต่างๆตามมานั่นเอง
Alexandra Sacks เชื่อว่า หากสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นแม่นี้ให้กับผู้หญิงที่เพิ่งคลอดลูก และผู้คนรอบตัว ว่าความรู้สึกที่ยากลำบากเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมนุษย์และเกิดขึ้นกับคนอื่นๆจำนวนมากเช่นกัน ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรู้สึกผิดหรือเป็นกังวล ก็จะช่วยลดความเครียด และลดอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของคุณแม่ป้ายแดงลงได้
“When a baby is born, so is a mother.”
คราฟเทอร์เคฟคิดส์ ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ป้ายแดงทุกคนสามารถผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไป เพื่อจะได้มีความสุขกับเจ้าตัวน้อยและครอบครัวในทุกๆวัน แต่หากเริ่มรู้สึกว่าเป็นปัญหาจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว การปรึกษาจิตแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่อยากแนะนำให้คุณแม่ลองดูค่ะ เหมือนเวลาที่เราเป็นหวัดเราก็ต้องไปหาหมอ แค่นั้นเองค่ะ
ข้อมูลอ้างอิงจาก TED TALK – A new way to think about the transition of motherhood.
ลองอ่านความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของลูกและการดูแลลูกที่อาจเป็นประโยชน์สำหรับคุณแม่ได้ที่นี่ค่ะ
บทความCrafterCave Kids (คราฟเทอร์เคฟคิดส์) แบรนด์ผู้ออกแบบและจำหน่ายเกม ของเล่น และสื่อการเรียนรู้เสริมพัฒนาการทางภาษาและการสื่อสารของเด็กๆในแต่ละช่วงวัยโดยเฉพาะ
CrafterCave Kids ยังมีบทความอื่นๆที่น่าสนใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่อยู่อีกนะ