มารู้จักพัฒนาการทางภาษาเชิงลึกและเชิงกว้างของเด็ก เพื่อความเป็นเลิศทางภาษา


มารู้จักพัฒนาการทางภาษาเชิงลึกและเชิงกว้างของเด็ก เพื่อความเป็นเลิศทางภาษา

บทความนี้ CrafterCave Kids จะมาอธิบายถึงคำศัพท์พื้นฐาน 4 คำ ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางภาษาของเด็กๆ ซึ่งมีความสำคัญ และอยากให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทำความเข้าใจ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาของลูกอย่างถูกต้องครบถ้วนต่อไปในอนาคต

คำศัทพ์ทั้ง 4 คำ  ได้แก่ ความเข้าใจภาษา การแสดงออกทางภาษา พัฒนาการทางภาษาเชิงลึก และพัฒนาการทางภาษาเชิงกว้าง

ความเข้าใจภาษา (Receptive Language)  และ การแสดงออกทางภาษา (Expressive Language) แตกต่างกันอย่างไร?

ความเข้าใจภาษา

ความเข้าใจภาษา คือ ความสามารถในการทำความเข้าใจสารที่ได้รับเข้ามา เช่น การฟังและการอ่านนับเป็นทักษะด้านความเข้าใจภาษา ความเข้าใจภาษาเป็นทักษะที่เรียนรู้และพัฒนาได้ง่ายกว่าการแสดงออกทางภาษา ซึ่งเด็กจะต้องพัฒนาขึ้นมาก่อนที่เด็กจะเรียนรู้การแสดงออกทางภาษาในลำดับต่อไป

 

การแสดงออกทางภาษา

การแสดงออกทางภาษา คือ ความสามารถในการสื่อสารกับผู้อื่น เช่น การพูดและการเขียนนับเป็นทักษะด้านการแสดงออกทางภาษา การแสดงออกทางภาษาเป็นทักษะที่เรียนรู้และพัฒนาได้ยากกว่าความเข้าใจภาษา ซึ่งเด็กจะพัฒนาตามมาหลังจากที่เด็กมีความเข้าใจภาษาที่ดีแล้ว

“ก่อนที่เด็กจะแสดงออกทางภาษาได้ เด็กควรจะมีความเข้าใจภาษาที่ดีเสียก่อน”

พัฒนาการทางภาษาเชิงลึก (Depth) และ พัฒนาการทางภาษาเชิงกว้าง ( breadth) แตกต่างกันอย่างไร?

พัฒนาการทางภาษาเชิงกว้าง เป็นพัฒนาการทางภาษาของเด็กในลักษณะที่ เด็กจดจำชื่อหรือเรียกสิ่งต่างๆได้ถูกต้อง เลียนแบบการใช้คำ จดจำคำพูดหรือคำศัพท์ต่างๆได้จำนวนมากและหลากหลายหมวดหมู่ เป็นกาารเพิ่มคำศัพท์จำนวนมากเข้าไปในคลังคำศัพท์ของเด็ก แต่เด็กอาจไม่เข้าใจถึงความหมายของคำนั้น ความสัมพันธ์กับคำอื่นๆ หรือลักษณะและรูปแบบการใช้งานคำศัพท์นั้นๆอย่างลึกซึ้ง ซึ่งอาจสรุปได้ว่าพัฒนาการทางภาษาเชิงกว้างเป็นพัฒนาการทางภาษาในด้าน ปริมาณ นั่นเอง

 

พัฒนาการทางภาษาเชิงลึก เป็นพัฒนาการทางภาษาของเด็กในลักษณะที่ เด็กรู้จักและเข้าใจคำศัพท์แต่ละคำเป็นอย่างดีในมิติต่างๆ เช่น ความหมายของคำ การออกเสียง ตำแหน่งและลักษณะการใช้ในประโยคเพื่อสื่อความหมายที่ถูกต้อง ความสัมพันธ์กับคำศัพท์อื่นๆ เป็นต้น ซึ่งอาจะสรุปได้ว่าพัฒนาการทางภาษาเชิงลึกเป็นพัฒนาการทางภาษาในด้าน คุณภาพ นั่นเอง

พัฒนาการทางภาษาที่ดี คือ พัฒนาการแบบตัว T

การสอนและพัฒนาความเข้าใจทางภาษาในช่วงวัยต่างๆ มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบภาษาของเด็ก ความเข้าใจภาษาของเด็กในวัยเรียนรู้ ควรเป็นลักษณะรูปตัว T คือมีทั้งความเข้าใจในเชิงกว้างและเชิงลึกร่วมกันไป

 

ในเด็กเล็กๆ อายุช่วงขวบปีแรก จะสอนเพื่อเน้น “ปริมาณ” ของภาษา เช่น การให้เด็กรู้จักคำศัพท์ในหมวดต่างๆ เพื่อให้เด็กเก็บคำศัพท์เหล่านั้นไว้ในคลังคำศัพท์ (Word bank) การสอนในลักษณะนี้ คือ การเพิ่มจำนวนภาษาในเชิงกว้าง เด็กเมื่อโตขึ้น ปริมาณคำศัพท์จะมีจำนวนมากขึ้น และมีความซับซ้อนมากขึ้น ยิ่งสอนให้รู้จักเยอะ ก็จะยิ่งเป็นผลดีสำหรับเด็ก

เมื่อเด็กอายุ 22 – 36 เดือน จะเริ่มเข้าใจคำถาม ใคร อะไร ที่ไหน โดยรูปแบบของคำถาม ก็จะมีความยากง่ายแตกต่างกันออกไป แต่อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจว่า เด็กสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ดี เพราะบางคำถามจะเป็นการถามเพียงแค่ให้เด็กบอก “ชื่อ” ของคำศัพท์ที่เราเรียกๆ กันเท่านั้น!! ไม่ได้วัดความสามารถทางภาษาในมิติอื่นๆ

โดยปกติเด็กที่มีจำนวนคำศัพท์มากเพียงพอ จะตอบคำถามง่ายๆ ประเภทนี้ได้ดี เช่น “นี่รูปอะไร?” “นี่ตัวอะไร?” “คนนี้..ใคร?

คำถามที่ยากซึ่งต้องการความเข้าใจทางภาษาระดับที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น “อะไรกินได้?” “อะไรมีเสียงร้อง?” การตอบคำถามประเภทนี้ได้ การรู้จักแค่ “ชื่อ” ของคำศัพท์นั้นยังไม่เพียงพอ เด็กต้องรู้จัก “การเชื่อมโยง” ความสัมพันธ์ของคำศัพท์เหล่านั้นด้วย ถึงจะสามารถตอบคำถามในระดับที่ยากขึ้นนี้ได้

ยกตัวอย่างเช่น เด็กบางคนรู้จักคำศัพท์ว่า “ขนมปัง” รู้จักคำศัพท์ว่า “กิน” แต่เมื่อถามว่า “อะไรกินได้?” เด็กอาจจะตอบไม่ได้ว่า “ขนมปัง” เป็นสิ่งที่ “กิน” ได้ แม้ว่าเด็กจะรู้จักคำศัพท์ทั้งสองคำแล้วก็ตามลักษณะแบบนี้แสดงให้เห็นว่าเด็กยังไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคำศัพท์เหล่านั้นได้

จึงเป็นเหตุผลว่า คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้เด็กเข้าใจและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคำศัพท์ให้ได้ ซึ่งการสอนในลักษณะนี้ จะเป็นการสอนภาษาในเชิงลึก ยิ่งเด็กรู้ลึก รู้ว่าคำศัพท์แต่ละคำมีความสัมพันธ์ในแง่ไหนบ้าง ยิ่งเด็กเชื่อมโยงได้ดีได้หลากหลาย ก็จะยิ่งส่งผลทำให้ความเข้าใจภาษาของเด็กมี “คุณภาพ” มากขึ้น ไม่ได้มีเพียงแค่ “ปริมาณ” อย่างเดียว และเมื่อโครงสร้างทางภาษาดี การสื่อสารก็จะดีตามไปด้วย

การจัดกลุ่มพัฒนาการทางภาษาในแง่ ปริมาณ และ คุณภาพ ของเด็ก

การจัดกลุ่มพัฒนาการทางภาษาในแง่ ปริมาณ และ คุณภาพ ของเด็ก จัดออกเป็น 3 กลุ่มคร่าวๆ คือ

1.เด็กบอกชื่อคำศัพท์ได้น้อย บอกการเชื่อมโยงได้น้อย แสดงว่า ภาษา ยังไม่ดี ทั้งปริมาณ และ คุณภาพ (ตามภาพรูปตัว T ที่เป็นเส้นประทางซ้าย ) ควรเพิ่มพัฒนาการทั้ง 2 ด้าน

2.เด็กบอกชื่อคำศัพท์ได้ดี บอกการเชื่อมโยงได้น้อย แสดงว่า ภาษาดีเพียงแค่ปริมาณ ควรเพิ่มคุณภาพ (ตามภาพรูปตัว T ที่อยู่ตรงกลาง)

3.เด็กบอกชื่อคำศัพท์ได้ดี บอกการเชื่อมโยงได้ดี แสดงว่า ภาษาดีทั้งปริมาณ และคุณภาพ (ตามภาพรูปตัว T ที่อยู่ด้านขวา) ควรเพิ่มความยากในการเชื่อมโยง โดยการตั้งคำถามที่ให้เด็กเกิดการคิดวิเคราะห์มากยิ่งขึ้น เช่น การคิดเปรียบเทียบ การแสดงเหตุผล เป็นต้น

ลองเช็คกันดูว่า..พัฒนาการทางภาษาของลูกน้อยเป็นตัว T แบบใด

LexiconLink ของเล่นและสื่อเสริมพัฒนาการทางภาษาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพสำหรับเด็ก

CrafterCave Kids (คราฟเทอร์เคฟคิดส์) แบรนด์ผู้ออกแบบและจำหน่ายเกม ของเล่น และสื่อการเรียนรู้เสริมพัฒนาการทางภาษาและการสื่อสารของเด็กๆในแต่ละช่วงวัยโดยเฉพาะ

CrafterCave Kids ยังมีบทความอื่นๆที่น่าสนใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่อยู่อีกนะ

Leave a Reply