ภูเขาน้ำแข็งแห่งอารมณ์ สาเหตุของพฤติกรรมไม่พึงปรารถนาของลูก

ภูเขาน้ำแข็งแห่งอารมณ์ สาเหตุของพฤติกรรมไม่พึงปรารถนาของลูก

พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมเหมาะสมและมีวินัยที่ดี เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะช่วยเหลือให้เด็กเรียนรู้และลดการแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นลง แต่การแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็ก มีหลายวิธี โดยมากจะใช้เทคนิคต่างๆเพื่อปรับพฤติกรรม แต่เคยสงสัยไหมว่า ทำไมยิ่งปรับ ยิ่งไม่ได้ผล หรือทำไมยิ่งปรับ กลับสร้างประเด็นปัญหาต่างๆเพิ่มเติมอีกมาก  

ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนส่วนใหญ่จะเน้นที่การปรับปลายเหตุ ก็คือ พฤติกรรม เมื่อพ่อแม่เห็นพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกมาอันไหนไม่พึงประสงค์ ก็จะ “ตัดสิน” ผ่าน “สายตา” ว่า “ดี” หรือ “ไม่ดี” เมื่อแสดงออกมา “ไม่ดี” เมื่อไหร่ ก็จะรีบเข้ามามีส่วนร่วม และสั่งสอนพร้อมเหตุผลเพื่อแก้พฤติกรรมเหล่านั้นทันที ซึ่งวิธีการปรับพฤติกรรมในเด็กแต่ละคน อาจจะไม่ได้ผลเสมอไป บางครั้งสามารถหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งไป หนำซ้ำบางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็ยังไม่เคยลดลงไปอีกด้วย

แล้วเมื่อไหร่ถึงจะได้ผล และให้ลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม?

อยากได้ผลที่ยั่งยืน ให้ปรับที่ “อารมณ์”

ก่อนจะรู้วิธีการแก้ไขพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พฤติกรรมที่แสดงออกมีรากฐานจากอารมณ์เป็นแรงขับเคลื่อน  อารมณ์เป็นตัวกำหนดการกระทำและการแสดงพฤติกรรมต่างๆ เปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็งที่มีฐานขนาดมหึมาลอยลึกอยู่ใต้มหาสมุทร เป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องอาศัย “ความเข้าใจ” จึงจะมองอารมณ์ของเด็กได้อย่างชัดเจน

เด็กที่ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยดี เป็นเพราะเด็กยังไม่รู้จักการยอมรับอารมณ์ตัวเอง จึงยังไม่สามารถจัดการอารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ  เมื่อจัดการตัวเองไม่ได้ บวกกับภาษาและการสื่อสารที่ยังไม่ดี หนทางเดียวที่จะสื่อให้ผู้ดูแลเข้าใจ หรือเพื่อระบายความอัดอั้นภายในใจ ก็คือ พฤติกรรมที่แสดงออกมา เช่น การร้องไห้ โวยวาย การตะคอก เก็บตัว เป็นต้น แต่พฤติกรรมที่แสดงออกนั้น ถูกจัดว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่สังคมจะให้การยอมรับ เด็กกลุ่มนี้จึงถูกเหมารวมว่าเป็นเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม ควรได้รับการแก้ไข

ถ้ามองด้วย “ความเข้าใจ” แล้วเราจะพบว่าเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม  มีต้นเหตุจากอารมณ์ ไม่ใช่เพราะเด็กอยากจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดี แต่ถ้าเมื่อไหร่ เราใช้ “ตา” มองเพียงอย่างเดียว เราก็จะพบแต่การร้องไห้ การโวยวาย การตะคอก เท่านั้น

ถ้ามองด้วย “ความเข้าใจ” แล้วเราจะพบว่าเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม  มีต้นเหตุจากอารมณ์ ไม่ใช่เพราะเด็กอยากจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดี

สาเหตุของพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่ได้ขึ้นกับเด็กฝ่ายเดียว พ่อแม่ก็มีผลมาก

พ่อแม่ที่ยังขาดความเข้าใจในเรื่องของอารมณ์ หรือมีความเชื่อบางประการ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้  เช่น พ่อแม่ที่พยายามควบคุมอารมณ์เด็ก โดยที่ไม่ปล่อยโอกาสให้เด็กได้ทำความรู้จักกับอารมณ์และเรียนรู้วิธีจัดการกับอารมณ์ด้วยตนเอง พ่อแม่บางคนจะรู้สึกไม่สบายใจเมื่อเห็นลูกมีอารมณ์ เฉพาะอย่างยิ่งในอารมณ์เชิงลบ เช่น โกรธ โมโห เบื่อ ไม่พอใจ พ่อแม่จะพยายามคิดหาทางออกให้ลูกทันที  เพื่อเปลี่ยนอารมณ์ของลูกไม่ให้มีอารมณ์เชิงลบ เมื่อมีพ่อแม่ทำและคิดให้ทุกอย่าง เวลาลูกประสบกับปัญหาหรือตกอยุู่ในอารมณ์ที่ไม่คุ้นเคยจะทำให้ลูกไม่เคยได้สัมผัสเลยว่า อารมณ์ที่เกิดในใจนี้คืออารมณ์อะไร เมื่อไม่มีต้นทุนที่จะทำให้เด็กเรียนรู้ด้านอารมณ์ เด็กจึงไม่สามารถคิดหาวิธีที่จะจัดการและแก้ไขปัญหาด้านอารมณ์ต่างๆได้ด้วยตนเอง

ดังนั้นความหวังดีของพ่อแม่จึงควรมีความพอดี เราควรทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือ ไม่ใช่ผู้แก้ปัญหาแทน เพราะเมื่อใดที่ผู้แก้ปัญหาแทนไม่อยู่ เด็กอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาผ่านการแสดงออกที่เหมาะสมได้ เด็กก็จะเลือกวิธีการแสดงออกที่ทันใจ นั่นคือ การแสดงออกในระดับพฤติกรรม

เปลี่ยนตัวเรา เพื่อให้เขาเติบโต

เปลี่ยนพฤติกรรมลูก เริ่มจากพ่อแม่ พ่อแม่ต้องใช้ “ใจ” ในการมองให้ลึกถึงภูเขาน้ำแข็งแห่งอารมณ์ที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้พฤติกรรมที่แสดงออก เข้าใจก่อน เหตุผลมาทีหลัง อย่าใส่เหตุผลยาวๆ เพื่อหยุดการกระทำของลูก ยกเว้นกฎ 3 ข้อที่ลูกทำเมื่อใด ต้องเกิดการห้ามทันที คือ

1.ทำร้ายตัวเอง 2.ทำร้ายผู้อื่น 3.ทำลายสิ่งของ

พ่อแม่ไม่ควรตัดสินเพียงแค่เห็นพฤติกรรม  ให้อ่าน “ใจ” ของลูกก่อนว่าตอนนี้ ลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเป็นเพราะลูกกำลังรู้สึกอย่างไร อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกรู้สึกเช่นนั้น แล้วจึงสะท้อนอารมณ์ของลูกออกมาเพื่อให้ลูกสัมผัสได้ว่า พ่อแม่ “เข้าใจ” และจะอยู่เคียงข้างเป็น “ทีม” เดียวกับลูก เพื่อแสดงให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่นั้น “พึ่งพิง” และ “พิงพา” ได้ ไม่ว่าลูกจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม

เมื่อลูกสงบและรับฟังมากขึ้น จึงทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือ กระตุ้นให้ลูกคิดว่าจะหาวิธีการแก้ปัญหาในสิ่งนั้นๆ อย่างไร แล้วใช้วิธีการใดจึงจะเหมาะสมและนำไปใช้ได้จริง เด็กที่ก้าวข้ามอารมณ์ต่างๆด้วยตัวเองโดยมีพ่อแม่เป็นโค้ชที่ดี จะทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นทางใจว่าอย่างน้อยก็มีพ่อแม่เป็นบุคคลที่เข้าใจ เด็กจะยอมรับอารมณ์ ไม่หนีปัญหา ควบคุมตัวเอง จัดการอารมณ์ตัวเอง และใช้หลักคิดในการแก้ปัญหาของตนเองเสมอๆ

เด็กที่หาทางออกของปัญหาของตัวเองได้ ก็จะทำให้เลือกวิธีการแสดงออกที่เหมาะสม เช่น การพูด สื่อสาร แทนการร้องไห้ โวยวาย ก็จะทำให้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลดลงตามลำดับ ซึ่งวิธีการแก้ไขนี้จะเป็นการปรับพฤติกรรมที่ให้ผลอย่างยั่งยืน เพราะภูเขาน้ำแข็งแห่งอารมณ์ละลายได้ด้วยความเข้าใจ    

ขอบคุณ คุณปรียานุช โอฬารวัฒนกุล นักแก้ไขการพูด

ที่แบ่งปันประสบการณ์และข้อมูลดีๆกับเราเกี่ยวกับการบริหารจัดการณ์อารมณ์และพฤติกรรมของเด็ก

CrafterCave Kids (คราฟเทอร์เคฟคิดส์) แบรนด์ผู้ออกแบบและจำหน่ายเกม ของเล่น และสื่อการเรียนรู้เสริมพัฒนาการทางภาษาและการสื่อสารของเด็กๆในแต่ละช่วงวัยโดยเฉพาะ

CrafterCave Kids ยังมีบทความอื่นๆที่น่าสนใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่อยู่อีกนะ